โรคผมร่วงเป็นหย่อม Alopecia Areata

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคผมร่วงเป็นหย่อม
โรคผมร่วงเป็นหย่อม Alopecia Areata คือ โรคผมร่วงที่มีลักษณะการร่วงเป็นวงกลม เป็นหย่อม อาจมีเพียงหย่อมเดียว หลายหย่อม หรือเกิดการกระจายได้หลายพื้นที่ สามารถเกิดได้กับทุกบริเวณของร่างกายที่มี ผม หรือขน
ใครที่จะเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม
พบในผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี ผู้ชาย และผู้หญิงเป็นได้พอ ๆกัน เกิดได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ พบในผู้ป่วย ผื่นแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) พบร่วมได้ 10-25%
สาเหตุของการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อม
- อาจเกิดจากพันธุกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อม
- ผมร่วงเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- อาจเกิดร่วมกับโรคต่าง ๆ ในหมวดแพ้ภูมิคุ้มกันต้านเซลล์ตัวเอง เช่น โรคไทรอยด์ โรคด่างขาว
- อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรค ฮอร์โมนที่ไม่สมดุล : การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายอาจส่งผลต่อการเกิดโรค
- เกิดจากการที่ฮอร์โมนไม่สมดุล เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายอาจส่งผลต่อการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อม ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ต้านอินซูลิน โรคเบาหวาน, ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เกิดจากความเครียด
อาการของโรคผมร่วงเป็นหย่อม
- อาการผมร่วงเป็นหย่อม มีการร่วงแบบขอบเขตชัดเจน มักเกิดบริเวณศีรษะ อาจเกิดวงเดียวหรือหลายวงก็ได้
- ตรงบริเวณที่ร่วง หนังศีรษะมักจะไม่มีรูขุมขน (เลี่ยน) แต่หนังศีรษะมีสีปกติ ถ้ามีผมพอจะขึ้นได้มักมีลักษณะขึ้นเป็นตอ ๆ
- กรณีเส้นผมยาวในบริเวณที่เป็น ลักษณะปลายผมจะหนาโคนผมลีบเล็ก ไม่แข็งแรง
- อาจพบในบริเวณอื่นด้วย ตา คิ้ว หนวด เครา รักแร้
- ถ้าในรายที่เป็นมาก ๆอาจมีการลามจนผมร่วงทั้งหนังศีรษะ
ผมร่วงเป็นหย่อมอันตรายไหม ร่วงมากขนาดไหนถึงควรพบแพทย์?
ผมร่วงเป็นหย่อมไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่มีผลกระทบต่อความมั่นใจในชีวิตประจำวัน ซึ่งในบางกรณีอาการอาจกลับมาดีขึ้นเองได้โดยไม่ต้องรักษา แต่ในบางรายต้องให้แพทย์ใช้เวลารักษานาน
ผมร่วงมากขนาดไหนถึงพบแพทย์ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคและความรุนแรงของอาการ เช่น ถ้าผมร่วงเป็นจุด ๆและไม่มีอาการทางผิวหนังอื่น ๆ เช่น คัน เกิดแผล ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
แต่หากมีอาการอื่น ๆร่วมด้วย เช่น คัน เป็นแผลบนหนังศีรษะ หรือผมร่วงมากกว่า 20% ของจำนวนผมบนศีรษะ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจสอบสาเหตุและรับการวินิจฉัย การผมร่วงเป็นหย่อม อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ เช่น โรคไทรอยด์ และ โรคภูมิแพ้ตัวเอง เป็นต้น
ผมร่วงเป็นหย่อมจากสาเหตุอื่น ๆ
- ผมร่วงเป็นหย่อมจากสาเหตุอื่น ๆที่ควรระมัดระวัง เช่น การแพ้สารเคมีในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม (เช่น ยาย้อมผม ยืดผม และดัดผม)
- การติดเชื้อราบนหนังศีรษะ เชื้อแบคทีเรีย มักจะเกิดขึ้นร่วมด้วย อาการคัน การเกิดแผลบนหนังศีรษะ หรือเส้นผมเปราะบางแตกหักง่าย ถ้าหากคุณมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมโดยไม่มีปัจจัยภายนอกรบกวน จะไม่มีอาการผิวหนังเหล่านี้เกิดขึ้น
การรักษาผมร่วงเป็นหย่อม
- การฉีดยาลงไปบนจุดที่มีผมร่วงเป็นหย่อมโดยตรง เช่น การฉีดยา Corticosteroid
- การทายา Minoxidil 5% ลงบนหนังศีรษะเพื่อกระตุ้นให้ผมงอกใหม่ในช่วงแรกของการรักษาอาการผมร่วงเป็นหย่อม
- การฉายแสง LLT เพื่อกระตุ้นรากผม เพิ่มความแข็งแรงรากผม
- การทายากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ มักใช้ในผู้ป่วยที่มีความรุนแรงน้อยหรือพบอาการในเด็กที่ไม่ทนต่อการฉีดยา
- การทายา Anthralin เป็นอนุพันธุ์ของน้ำมันดินใช้ทาทิ้งไว้สักพัก แล้วทำการล้างออก แพทย์จะเป็นผู้ที่ประเมินแล้วสั่งยา
ข้อควรระวัง
โรคผมร่วงเป็นหย่อม จะสามารถหายเองได้ภายใน 3-6 เดือน แต่ถ้ามีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น เช่น ผมร่วงมากกว่า 50% ของเส้นผมบนหนังศีรษะ หรือมีอาการทางผิวหนังอื่น ๆร่วมด้วย เช่น คัน เป็นแผล ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว